คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม MUZAKARAH CENDEKIAWAN SYARIAH NUSANTARA ครั้งที่ 19 เวทีความรู้ระดับภูมิภาค สู่การปฏิรูประบบการเงินอิสลามแบบบูรณาการ
กรุงเทพมหานคร, 17 กรกฎาคม 2568 – ศูนย์เศษฐศสาตร์และการเงินอิสลาม คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ สถาบัน ISRA มหาวิทยาลัย INCEIF ประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Muzakarah Cendekiawan Syariah Nusantara ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมอัล มีรอซ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านชารีอะฮ์ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสลาม นักวิชาการ ผู้กำกับดูแล และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศในภูมิภาคนูซันตาราเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง
ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูประบบการเงินอิสลามแบบบูรณาการ” การประชุมในปีนี้มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นร่วมสมัย อาทิ การสร้างเงิน (money creation) การสนับสนุนสิ่งที่หะรอมตามหลักศาสนา (al-i‘anah ‘ala al-ma‘siyah) และแนวคิด “การยินยอมโดยนัย” (deemed consent) จากมุมมองชารีอะฮ์และกฎหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 280 คนตลอดระยะเวลา 3 วันของการประชุม พร้อมรับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 27 ท่าน ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติทฤษฎีและการประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินอิสลามในระดับภูมิภาค โดยมีการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯจาก Dr. Marjan Muhammad รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัย INCEIF ประเทศมาเลเซีย เเละ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มูหัมมัดรอฟลี แวหะมะ คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ในโอกาสนี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง กล่าวในพิธีเปิดว่า “การประชุม MUZAKARAH นี้มิใช่เพียงเวทีวิชาการทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นเวทีที่สำคัญในการหลอมรวมระบบความรู้จากทั้งบริบทประเทศมุสลิมและประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นสะพานของการแลกเปลี่ยนทางปัญญา ความร่วมมือ และความหวังร่วมกันสำหรับระบบเศรษฐกิจที่มีจริยธรรมและตั้งอยู่บนหลักศรัทธา”
ถัดจากนั้น ฯพณฯ อรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การปฏิรูประบบการเงินอิสลามแบบบูรณาการในบริบทประเทศไทย” โดยเน้นว่า “การเสริมสร้างระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยจำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ การสร้างความเข้าใจแก่สาธารณชน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินอิสลามทั้งในและต่างประเทศ”
Dato’ Syeikh Haji Zakaria Othman ประธานเจ้าหน้าที่องค์กรซะกาตแห่งรัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิด โดยเน้นถึงความสำคัญของการผสานระบบการเงินอิสลามให้ครอบคลุมทั้งซะกาต วะกัฟ และซอดาเกาะห์ ซึ่งควรดำเนินควบคู่กันเพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมอย่างยั่งยืน ท่านยังได้นำเสนอประสบการณ์ขององค์กรซะกาตแห่งรัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย (LZNK) และผลลัพธ์เชิงบวกที่เกิดจากการปฏิรูปเชิงบูรณาการในระบบการเงินอิสลาม
ความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานจุฬาราชมนตรีแห่งประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ณ กรุงเทพฯ, Lembaga Zakat Negeri Kedah, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, SHORAKA, ASAS, ISRA Consulting, Co-op Bank Pertama, เครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย, TIP Takaful ประเทศไทย และองค์กรอื่น ๆ อีกมากมาย
คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี ในฐานะเจ้าภาพร่วม รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างเวทีวิชาการระดับภูมิภาคครั้งนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า MUZAKARAH จะยังคงเป็นเวทีสำคัญในการรวมพลังทางปัญญา ส่งเสริมความกลมกลืนทางฟัตวา และยกระดับธรรมาภิบาลด้านชารีอะฮ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของระบบการเงินอิสลามในโลกมลายูต่อไป
เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งหรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์และเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียดนโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy