“ทิศทางอิสลามศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย” คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี จัดเวทีเสวนาร่วมวางอนาคตการศึกษาอิสลามในยุคใหม่ โดยมีผู้แทนจากกระทรวง อว. พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคศาสนา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอเชิงนโยบาย
คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดประชุมเสวนาวิชาการหัวข้อ “ทิศทางอิสลามศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมอัลอัยยูบีย์ ชั้น 5 คณะวิทยาการอิสลาม โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิชาการ และผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านอิสลามศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและแนวทางพัฒนาอิสลามศึกษาให้สอดรับกับบริบทสังคมไทยร่วมสมัย
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ“ความคาดหวังของกระทรวง อว. ต่อทิศทางการจัดการศึกษาและวิจัยด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทย”ซึ่งเน้นย้ำบทบาทสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ โดยประธานในพิธีกล่าวว่า
"ดิฉันก็เชื่อมั่นค่ะว่าการส่งเสริมการพัฒนาอิสลามอย่างมีเป้าหมาย และสามารถที่จะกลายเป็นสะพานแห่งความเข้าใจที่จะเชื่อมโยงความหลากหลายให้กลายเป็นพลังในการสร้างสันติภาพ สันติสุข ความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกพื้นที่ โดยกระทรวง อว. พร้อมค่ะที่จะยืนเคียงข้าง แล้วก็ผลักดันพัฒนาอิสลามศึกษาให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในด้านมิติในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพแล้วก็สร้างองค์ความรู้"
กิจกรรมช่วงแรกเป็นการนำเสนอการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาและวิจัยอิสลามศึกษาของแต่ละสถาบัน โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 สถาบัน ได้แก่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มูหมัมัดรอฟลี แวหะมะ (คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศเเละคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก
- รองศาสตราจารย์ ดร.มูฮามัสสกรี มันยูนุ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
- รองศาสตราจารย์ ดร.อานัส พัฒนปรีชาวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
โดยวิทยากรได้แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงความท้าทายเฉพาะของแต่ละสถาบัน อาทิ
- สถานการณ์ปัจจุบันของการจัดการศึกษาอิสลามในสถาบันอุดมศึกษาไทย
- ความท้าทายและโอกาสในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
- บทบาทของอิสลามศึกษาในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มูหมัมัดรอฟลี แวหะมะ คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม กล่าวในการเสวนาว่า “สิ่งหนึ่งที่มีความท้าทายทุกปีและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นของคณะวิทยาการอิสลามในด้านหลักสูตร เราจะเห็นชัดว่า หลักสูตรอิสลามศึกษาในปัจจุบัน มีความสนใจลดน้อยลง ผมจำได้ว่าใน 10 ปีที่แล้ว เรามีนักศึกษาประมาณ 1,200 กว่าคน แต่ปัจจุบันนี้เรามีนักศึกษาปริญญาตรี 582 คน ปริญญาโท 100 คน รวมกันเเล้วประมาณ 700 กว่าคน เกือบๆครึ่งหนึ่งที่หายไป มันบ่งบอกถึงความน่าสนใจของหลักสูตรอิสลามศึกษาลดน้อยลง ซึ่งมาจากสาเหตุหลายๆประการ หนึ่งในนั้นก็คือ การที่หลักสูตรนั้นไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ถึงแม้ว่าตอบโจทย์ตลาด ความต้องการทางสังคม (Social needs) สังคมต้องการ แต่ขณะเดียวกันไม่ได้ตอบของ Market needs นะครับ เพราะว่าอิสลามศึกษาไม่ได้สามารถหาเงินได้มากนัก ถึงแม้ว่ามีความจำเป็นทางสังคมก็ตามนะครับ”
สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมเสวนาในครั้งนี้ มาจากหลากหลายหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญด้านการศึกษาและอิสลามศึกษา ได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยเกริก, มหาวิทยาลัยฟาฏอนี, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี, สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี,โรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.), สำนักงานจุฬาราชมนตรี, คณะกรรมการอิสลามประจังหวัดปัตตานี, ศูนย์อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.), ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี, สมาคมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลาม, สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้, สื่อชายแดนใต้, ศูนย์สื่อสารองค์กรและกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, สถาบันและหน่วยงานทางศาสนา และนักวิชาการและบุคลากรด้านอิสลามศึกษา โดยในช่วงท้ายของกิจกรรม เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเปิดระหว่างผู้เข้าร่วมกับวิทยากร ซึ่งเน้นการระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยด้านอิสลามศึกษาในอนาคต
ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า "สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทหลักในการ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีความเป็นสากล และสามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตที่จบจากสาขาอิสลามศึกษาควรมี หัวใจที่เข้มแข็งแต่มีพฤติกรรมที่อ่อนโยนและน่าเคารพ"
ศาสตราจารย์ ดร.ซาการียา หะมะ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษา คณะวิทยาการอิสลาม เสนอว่า หลักสูตรควรใช้กรอบแนวคิดทางวิชาการที่เป็น New Academic paradigm ที่ใหม่ และ ศาสตร์อิสลามศึกษา นั้นจะต้องเป็นศาสตร์ที่วางบนพื้นฐานของมะกอศิดชะรีอะห์เป็นหลัก หมายถึงว่าเอาเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลามเป็นหลัก แล้วก็บวกกับเรื่องของ Critical Islamic Thought เอามารวมกัน เพื่อที่เราจะสามารถตอบความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น และพยายามที่จะเสนอทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับสังคม เเละยังเน้นเรื่องการบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์อิสลาม เทคโนโลยี และจริยธรรมสมัยใหม่ และเสนอให้คณะวิทยาการอิสลามพิจารณาการผลิตหลักสูตรในลักษณะ "Non-degree" มากขึ้น
ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับความรู้และแรงบันดาลใจจากการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ซึ่งจะต่อยอดสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันในระดับต่าง ๆ ทั้งด้านหลักสูตร งานวิจัย และการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งด้านศาสนาและโลกสมัยใหม่
ก่อนปิดท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวขอบคุณวิทยากรและผู้เข้าร่วมงาน พร้อมกล่าวว่า “ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมกันสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้สำคัญครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอิสลามศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศชาติต่อไป”
ปิดท้ายด้วยการกล่าวสรุปโดยผู้แทนคณะวิทยาการอิสลาม โดยทางผู้จัดจะรวบรวมประเด็นสำคัญจากการประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำไปเผยแพร่และนำเสนอต่อผู้เข้าร่วมประชุมอีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมเสนอแนะเพิ่มเติม และนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอิสลามศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต พร้อมแสดงความขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมทุกท่าน รวมถึงประกาศความร่วมมือทางวิชาการต่อไป
เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งหรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์และเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียดนโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy