หน้าแรก / เกี่ยวกับโครงการ

เกี่ยวกับโครงการ

หลักการและเหตุผล         

          ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลกในหลากหลายมิติ ทั้งทางด้านการเผชิญกับสังคมสูงวัย (Aging Society) วิกฤตจากการระบาดของเชื้อไวรัส     โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง การแข่งขันทางการศึกษาที่รุนแรง และการตื่นตัวของเทคโนโลยีโลกเสมือน (Metaverse) ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วงการเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และเทคโนโลยี พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันทั้งภาพรวมของประเทศและรายสถาบันต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคมโลกดังกล่าว สถาบันอุดมศึกษายังต้องปรับตัวอีกหลายประการ อาทิ การปรับเปลี่ยนสถานะจากมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และมีเสรีภาพทางวิชาการและการบริหารจัดการ ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย โดยมีรัฐกำกับด้านนโยบายและมาตรฐาน และให้การอุดหนุนงบประมาณแบบเงินอุดหนุนทั่วไป (Block Grant) อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลมีงบประมาณการใช้จ่ายอย่างจำกัดทำให้ระบบการจัดสรรงบประมาณของรัฐมีการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิม ทั้งในด้านการขอรับการจัดสรรและวิธีการใช้จ่ายงบประมาณ ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องแสวงหารายได้เพื่อพึ่งพาตนเองมากขึ้น ทำให้อาจกลายเป็นธุรกิจการศึกษาต่อไปในอนาคต
          การเปลี่ยนแปลงเรื่องจำนวนนักศึกษาที่ลดลงในหลายสถาบันทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งนักศึกษา อันเนื่องมาจากที่นั่งในมหาวิทยาลัยในประเทศไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่จะจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 บางส่วนเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และบางส่วนไปศึกษาต่อสายอาชีวศึกษา จึงต้องสร้างความโดดเด่นทางด้านการศึกษาและวิจัย มีการเปิดรับเสรี และมีการเปิดหลักสูตรใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคสมทบ ภาคพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติ ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก บางหลักสูตรผลิตบัณฑิตปริมาณมากแต่มีคุณภาพไม่เพียงพอ ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ทำให้พบว่ามีบัณฑิตระดับปริญญาตรีไปทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิและไม่ตรงกับสายงานจำนวนมาก และบางสถาบันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ยุบ ควบรวมในบางสาขา เพื่อให้สอดคล้องกับนักเรียนที่จะเข้ามาเรียนในสถาบัน  ส่วนในด้านการจัดการเรียนการสอนต้องมีการปรับเปลี่ยนเรื่องรูปแบบและวิธีการจัดการศึกษา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคของ Digital Disruption, AI และ Metaverse ที่ก้าวเข้ามาในวงการอุดมศึกษาอย่างรวดเร็ว ทำให้มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ต้องมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในการพัฒนาสถาบัน เพื่อความอยู่รอดในยุค Disruption และการเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับในวงการต่าง ๆ
          การกำหนดนโยบายที่เน้นผลิตบัณฑิตสาขาที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และในต่างประเทศ จึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพกับตลาดแรงานในศตวรรษที่ 21 โดยการพัฒนาตามแนวทาง Outcome Based Education: OBE จะเน้นการบูรณาการกับสาขาอื่น ๆ  และมุ่งเน้นฝึกประสบการณ์ตามสถานที่จริง/สหกิจศึกษา และใช้สอนให้น้อยลง เรียนให้มากขึ้น (Teach less, learn more) สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต (Long life Learning) เพิ่มหลักสูตร Skill future Credit และสามารถ Reskill และ Upskill โดยให้สอดคล้องกับ World Economic Forum 2020 และให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อองค์กรจะได้บุคลากรตรงตามที่ต้องการ อันจะสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่มีความต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมมือกับภาคเอกชน มุ่งผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย การทำงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนของสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อสามารถแก้ปัญหาและทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถรับมือต่อวิกฤตที่เข้ามากระทบและสามารถก้าวพ้นวิกฤติดังกล่าวนั้นให้ได้ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของการเป็นองค์กรแบบ Resilient Organization อันเป็นแนวคิดในการบริหารจัดการองค์กรที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น อันมีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่สี่ปัจจัยพื้นฐานของการบริหารองค์กร ประการแรก คือ การมีผู้นำที่ต้องพร้อมเป็นผู้ริเริ่มและทำให้ทั้งองค์กรตระหนักถึงวิกฤติหรือการเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งจะต้องมีวิสัยทัศน์ ความคิดและความกล้าที่จะสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ จากวิกฤติที่เกิดขึ้น ประการที่สอง มีระบบการทำงานที่ดีและยืดหยุ่นที่พร้อมจะปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤติ  ประการที่สาม คนในองค์กรจะต้องมีทักษะ ความรู้ที่เหมาะสม แล้วยังต้องมีความพร้อมที่จะเผชิญและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและมองหาโอกาสใหม่ ๆ จากวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ และประการสุดท้าย คือ มีวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการก้าวผ่านวิกฤติและนำองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable Organization)
          ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ในฐานะที่เป็นองค์กรเครือข่ายหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ได้ตระหนักถึงปัญหาการศึกษาและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเห็นสมควรมอบหมายให้สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางวิชาการประจำปี พ.ศ. 2565 ภายใต้หัวข้อ เรื่อง “โอกาสและความท้าทายใหม่: อุดมศึกษาไทยสู่โลกเสมือนจริง" New Opportunities and Challenges: Thai Higher Education into the Virtual World เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรทางการศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดหรือมุมมอง ต่อปัญหาอุดมศึกษาไทย และวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมและสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยจัดให้มีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การนำเสนอผลงานการวิจัยของ ครู อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ และบุคลากรทั่วไป ในรูปแบบของการนำเสนอด้วยวาจา และโปสเตอร์ พร้อมกันนี้ ปอมท. ได้จัดให้มีพิธีรับโล่รางวัลพระราชทาน “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี 2565 จำนวน 6 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สาขามนุษยศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ และสาขารับใช้สังคม เพื่อเชิดชูเกียรติอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการ มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มนุษย์สัมพันธ์ และอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ให้เป็นตัวอย่างแก่บุคลากรทางการศึกษาและเพื่อผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์


1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ระดมความความคิดเห็นในการปรับปรุงและพัฒนาระบบการศึกษาไทยภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
2. เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ที่พึงประสงค์ของกระทรวงอุดมศึกษา สถาบันการศึกษา ผู้บริหารและบุคลากร ในสถานศึกษาต่อปัญหาการศึกษาของชาติ
3. เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่และการประกวดผลงานทางวิชาการ การวิจัยด้านการเรียนการสอนสาขาต่าง ๆ การบูรณาการการวิจัยกับการเรียนการสอน และการนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคม
4. เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ได้รับรางวัล “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี พ.ศ. 2565 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)


เป้าหมาย

1. ได้ผลสรุปจากการระดมความคิดเห็น และเข้าใจถึงทิศทางในอนาคตของอุดมศึกษาไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.  อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าใจบทบาทและหน้าที่ที่พึงประสงค์ของกระทรวงอุดมศึกษา สถาบันการศึกษา ผู้บริหารและบุคลากร ในสถานศึกษาต่อปัญหาการศึกษาของชาติ
3.  อาจารย์มหาวิทยาลัยได้เผยแพร่ และประกวดผลงานทางวิชาการ การวิจัยด้านการเรียนการสอนสาขาต่าง ๆ ที่บูรณาการการวิจัยกับการเรียนการสอน และการนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคม
4.  ได้เชิดชูเกียรติ “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี พ.ศ. 2565 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)