ศูนย์วิจัยฯ วอส. ลงนาม MOU และ Kickoff ขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานี
ประกาศเมื่อ 21 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566ศูนย์วิจัยวิทยาการอิสลาม คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี และเทศบาลเมืองปัตตานี ลงนาม MOU และ Kickoff ขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานี สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานทุนวัฒนธรรมวานนี้ ณ หอประชุม TK Park ปัตตานี โดยมีแขกผู้มีเกียรติ ผู้สูงวัย เเละเยาวชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับเทศบาลเมืองปัตตานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานทุนวัฒนธรรม ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนากลไกขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานทุนวัฒนธรรม เน้นการพัฒนากลไกความร่วมมือและการสื่อสารเพื่อการรณรงค์กิจกรรมระหว่างภาคีเครือข่าย พัฒนารูปแบบนิเวศการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนบนฐานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นเทศบาลเมืองปัตตานี นำองค์ความรู้จากการวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมในการประกอบอาชีพสำหรับประชาชน แลกเปลี่ยนสารสนเทศ สนับสนุนบุคลากร พื้นที่ และทรัพยากรในการวิจัยและการปฏิบัติงาน รวมถึงการบูรณาการกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรม หนุนเสริมการนำเทศบาลเมืองปัตตานีเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
เมื่อเช้าวันนี้ (20 กรกฎาคม 2566) ณ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี จังหวัดปัตตานี คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานทุนวัฒนธรรม ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนากลไกขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานทุนวัฒนธรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี และเทศบาลเมืองปัตตานี โดยนายนิอันวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี ร่วมลงนาม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และการเริ่มโครงการ (Kick-off) นอกจากนี้มีการเสวนา หัวข้อ “เมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยนายนิอันวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี รศ.ดร.มูฮัมหมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม นาย นิวาริษ สิเดะ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลเมืองปัตตานี ดำเนินรายการโดย คุณพัชรา ยิ่งดำนุ่น นักจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียง ม.อ.ปัตตานี
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการพัฒนามนุษย์ทุกช่วงวัยให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ประเด็นการจัดการศึกษา จึงเป็นวาระหลักของนานาประเทศที่ต้องให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง มีความเท่าเทียม ครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การศึกษาที่เท่าเทียม เป็นหนึ่งใน 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกประเทศและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนและสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 โดยความหมายของการศึกษาที่เท่าเทียม คือการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครอบคลุมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกระดับ นอกจากนี้เยาวชนสามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ เน้นขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาของผู้พิการ ชนพื้นเมือง และกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนผู้ที่มีทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการ จังหวัดปัตตานีโดยเฉพาะเทศบาลเมืองปัตตานีมีจุดแข็ง และโอกาสและความเป็นไปได้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ขาดโอกาสหรือมีข้อจำกัดให้สามารถเข้าถึงและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ การมีทักษะในการประกอบอาชีพและเข้าถึงโอกาสในการมีชีวิตที่ดีได้อย่างทั่วถึง โดยใช้กลไกขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ในรูปแบบเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานทุนทางวัฒนธรรม โดยต่อยอดและใช้โอกาสองค์ความรู้และเครือข่ายจากต้นทุนองค์ความรู้เดิมด้านวงแหวนวัฒนธรรมเมืองปัตตานี และการบูรณาการกับโครงการการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของจังหวัดปัตตานีที่เน้นการสร้างกลไกความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม และการสร้างศักยภาพของบุคลากรทั้งในระดับหน่วยงานและพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับเทศบาลเมืองปัตตานี จะช่วยพัฒนากลไกขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานทุนวัฒนธรรม และนำเทศบาลเมืองปัตตานีเข้าเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก และตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง และที่สำคัญจังหวัดปัตตานี พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและผลักดันให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ดูรูปภาพเพิ่มเติม/เเชร์โพสต์ คลิก